Satun Kite 2019 : Satun International Kite Festival Thailand : ว่าว ประเพณีจังหวัดสตูล


จังหวัดสตูลมีการเล่นว่าวมานานแล้ว โดยจัดการแข่งขันว่าวครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙
ณ สนามบินจังหวัดสตูล และได้จัดการแข่งขันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จนเป็นประเพณีการแข่งขันว่าวจังหวัดสตูล ซึ่งการเล่นว่าวเป็นการส่งเสริมประเพณี วัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านในการทำว่าว และเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับประชาชนจากการทำว่าว
จังหวัดสตูล เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมภูมิปัญญาว่าวท้องถิ่นจังหวัดสตูล จึงได้จัดทำนิทรรศการภูมิปัญญาว่าวท้องถิ่นจังหวัดสตูลขึ้น เพื่อระดมทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรด้านต่างๆ หาแนวทางวิธีการถ่ายทอดภูมิปัญญาว่าวแก่เด็ก เยาวชนแประชาชนในท้องถิ่น เพื่ออนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรมอันดีงามของจังหวัดสตูลให้คงอยู่ต่อไป

ประวัติความเป็นมาของว่าวไทย
การเล่นว่าวเป็นการละเล่นและกีฬาที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ จากการศึกษาความเป็นมาการเล่นว่าวของไทยจากพงศาวดาร ตลอดจนจดหมายเหตุของชาวต่างประเทศสันนิษฐานว่า คนไทยรู้จักการเล่นว่าวมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังความที่กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “พระยาร่วงขณะนั้นคะนองรัก มักเล่นเบี้ยและเล่นว่าว… ในกาลวันหนึ่งพระองค์ก็ทรงว่าว คว้าลงขาดลอยไปถึงเมืองตองอู … และว่าวพระยาร่วงเจ้าขาดลอยไปตกอยู่บนปราสาท พระยาร่วงเจ้าตามไปถึงเมืองตองอู…”
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)ได้ทรงตั้งกฎมณเฑียรบาลขึ้น เมื่อ พ.ศ.๑๙๐๑ ความว่า ห้ามประชาชนเล่นว่าวข้ามพระราชวัง หากละเมิดมีโทษถึงตัดมือ ว่าวนอกจากเล่นเพื่อความสนุกแล้วยังมีความเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีในราชสำนัก
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การเล่นว่าวได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีก มีพระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์ที่โปรดการเล่นว่าว จึงทำให้การเล่นว่าวแพร่หลายเป็นที่นิยมของประชาชนด้วย ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดการแข่งขันว่าวเป็นอันมาก ทำให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนประชาชนทั่วไปมีความสนใจนำว่าวเข้าทำการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานเป็นจำนวนมาก ว่าวไทยในสมัยนั้นจึงเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดการแข่งขันที่หน้าพระที่นั่ง ขณะแข่งขันมีแตรวงทหาร และพิณพาทย์เล่นกันเป็นที่สนุกสนาน โดยฝ่ายที่ชนะจะได้รับพระราชทานพวงมาลัยให้เป็นเกียรติ และยังมีการพระราชทานเลี้ยงให้แก่ผู้ชนะอีก
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มจากปี พ.ศ.๒๔๖๙ พระยาภิรมย์ภักดีได้แต่งตั้งตำราขึ้นเล่มหนึ่งชื่อ “ตำราว่าวพนัน ตำราผูกว่าว วิธีชักว่าว และการเล่นว่าวต่อสู้กันในอากาศ” เป็นตำราเล่นว่าวเล่มแรกและเล่มเดียวในประเทศไทย หลังจากนั้นอีกสามปี พระยาภิรมย์ภักดีพิจารณาเห็นว่าการเป็นผู้ตัดสินการแข่งขันว่าวยังมีปัญหาอยู่มากทั้งที่กระทำโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมแล้ว แต่ก็มักจะมีกรณีโต้แย้งหรือครหาอยู่เสมอ เนื่องจากไม่มีหลักยึด ดังนั้น พระยาภิรมย์ภักดีจึงได้จัดพิมพ์กติกาว่าวขึ้นอีกเล่มหนึ่ง โดยคัดเลือกมาจากกติกาว่าวที่สนามสวนดุสิตแต่เมื่อปลายรัชกาลของพระองค์กีฬาว่าวได้เริ่มซบเซาลง ทั้งนี้ เพราะสถานที่แข่งขันได้มาตรฐานเหลือเพียงสนามหลวงแห่งเดียว จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๒๖ เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ได้มีหน่วยงานทั้งราชการและเอกชนร่วมมือกันฟื้นฟูกีฬาว่าวขึ้น โดยจัดงาน”มหกรรมว่าวไทย” ณ บริเวณสนามหลวง โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสร็จเป็นองค์ประธาน

ประวัติการแข่งขันว่าวประเพณีจังหวัดสตูล
ปี พ.ศ.๒๕๑๙ หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวในนาเสร็จสิ้น ชาวบ้านตำบลคลองขุดได้คิดร่วมกับครูอาจารย์โรงเรียนสตูลวิทยา สมัยนั้นนายโกศล ดวงพัตรา ผู้อำนวยการโรงเรียนสตูลวิทยาร่วมกันหารือในการแข่งขันแข่งขันว่าวจังหวัดสตูล โดยกำหนดเอาสนามบินจังหวัดสตูลเป็นสนามแข่งขันช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ลมว่าวกำลังพัดผ่านพอดี จัดการแข่งขัน ๓ ประเภท คือว่าวสียงดัง ว่าวขึ้นสูง ว่าวสวยงาม รางวัลประเภทละ ๓๐๐ บาท มีผู้บริจาคประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท จัดการแข่งขันครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ มีว่าวเข้าแข่งขันประมาณ ๕๐ ตัว
ปี พ.ศ.๒๕๒๐ มีการประชุมกันอีก เอาต้นเดือนกุมภาพันธ์ เป็นหลัก มีอาจารย์นิรันทร์ ธรรมบำรุง และนายไกรสีห์ อังสุภานิช เป็นผู้หารายได้จัดงาน มีว่าวเข้าแข่งขันประมาณ ๖๐ ตัว
ปี พ.ศ.๒๕๒๑ เปลี่ยนแปลงสถานที่แข่งขันไปที่โรงเรียนสตูลวิทยา รางวัลคง ๕๐๐ บาทเหมือนเดิม แต่มีถ้วยรางวัลเพิ่มเติม มีผู้ให้การสนับสนุนเพิ่มขึ้น เช่น บริษัทหาดทิพย์ จำกัด ครั้งนี้มีว่าวจากจังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุงเข้าร่วมแข่งขันด้วย ประชาชนให้ความสนใจมากขึ้น
ระยะหลังๆ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสตูลมีส่วนร่วมในการแข่งขันให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัทหาดทิพย์ จำกัด ธนาคารต่างๆ ให้ความร่วมมือรางวัลเพิ่มเป็น ๗๐๐ บาท พร้อมด้วยถ้วยเกียรติยศของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พ่อค้าต่างประเทศ เช่นรัฐเปอร์ลิส รัฐเคดาห์ มาร่วมการแข่งขัน กลางคืนมีการเลี้ยงรับรอง มอบของที่ระลึกให้ อีกทั้งรัฐทั้งสองรัฐของประเทศมาเลเซียได้เชิญชวนทีมว่าวจังหวัดสตูลร่วมงานว่าวของมาเลเซีย ซึ่งเป็นหนทางทำให้วงการว่าวของจังหวัดสตูลเริ่มคึกคัก เห็นหนทางในการจัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอารีย์ วงศ์อารยะเป็นผู้สนับสนุนอย่างแท้จริงถึงกับมาปล่อยว่าวกับมือเอง และเชิญชวนข้าราชการมหาดไทยมาร่วมงานว่าวที่สนามบินจังหวัดสตูล
หลังจากผู้ว่าราชการจังหวัด นายอารีย์ วงศ์อารยะ ได้ย้ายไป วงการว่าวเงียบเหงาไป ๒ ปีมาเริ่มคึกคักในสมัยของผู้ว่ารายการจังหวัด นายสรธรรม จริงจิต เป็นผู้สนับสนุน มีผู้อำนวยการ นายพะยงค์ อุบลขาว เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสตูลวิทยา ทำให้วงการว่าวมีชีวิตชีวามากขึ้นประกอบกับในสมัยนั้น มีนายอิทธิพล ภานุวัฒน์ภิญโญ อาจารย์โรงเรียนสตูลวิทยา เพิ่งมารับราชการ จึงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในวงการว่าวของจังหวัดสตูล เป็นครั้งแรกที่ทีมว่าวจังหวัดสตูล ได้ไปร่วมงานว่าวนานาชาติที่พัทยา โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้จัด ทำให้ชื่อเสียงของจังหวัดสตูลเริ่มแพร่กระจายในวงกว้างมากขึ้น



อ่านหนังฉบับออนไลน์