Tourist attraction 旅游景点 แหล่งเที่ยว

อ ำ เ ภ อ เ มื อ ง ส ง ข ล า

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา ศิลปวัตถุของภาคใต้ตอนล่าง และเป็นแหล่งศึกษาโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ชาติพันธุ์วิทยา เปิดให้เข้าชม วันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. (ปิดวันจันทร์-อังคาร และวันนักขัตฤกษ์) ค่าเข้าชม ชาวไทย ๓๐ บาท พระภิกษุ สามเณร นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ และผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ ๑๕๐ บาท สอบถามข้อมูลโทร. ๐ ๗๔๓๑ ๑๗๒๘ www.finearts.go.th/songkhlamuseum

พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ (พะธำมะรง)

อยู่เลขที่ ๑ ถนนจะนะ ตำบลบ่อยาง ใกล้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา เป็นสถานที่ตั้งบ้านพักเดิมของรองอำมาตย์ โทขุนวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) บิดาของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี และวีรบุรุษ ซึ่งเป็นชาวจังหวัดสงขลา อาคารพิพิธภัณฑ์ฯ เป็นสถาปัตยกรรมแบบเรือนไทยไม้ยกพื้นชั้นเดียว หลังคาทรงปั้นหยา ๒ หลังคู่ มีชานเปิดโล่งเชื่อมถึงกัน ภายในจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของครอบครัวติณสูลานนท์ในอดีต เมื่อครั้งสมัยที่บิดาของท่านดำรงตำแหน่ง “พะทำมะรง” เรือนจำสงขลา ซึ่งเป็นตำแหน่งเก่าของข้าราชการกรมราชทัณฑ์ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีควบคู่กับตำแหน่งพัสดี จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๙ ตำแหน่งพะทำมะรงจึงถูกยกเลิกไป พิพิธภัณฑ์ฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๐๐ น. (ปิดวันจันทร์และวันนักขัตฤกษ์)

กำแพงเมืองเก่าสงขลา
อยู่ถนนจะนะ ตำบลบ่อยาง เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยกรุงเทพมหานครได้มีคำสั่งลงมาให้สร้างกำแพงและป้อม แต่การก่อสร้างยังไม่ทันแล้วเสร็จ หัวเมืองมลายูเป็นกบฏ (พ.ศ. ๒๓๘๑) ยกทัพมาเผาเมืองจะนะ และเข้ามาตีเมืองสงขลา พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ได้เข้ารักษาเมืองไว้จนทัพหลวงจากกรุงเทพฯ ยกลงมาช่วยตีทัพกบฏมลายูแตกกลับไป และช่วยก่อกำแพงเมืองสงขลาจนสำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ โครงสร้างกำแพงเมือง ก่อด้วยศิลาก้อนสอปูนเป็นรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบเมืองสงขลา มีความยาวทิศเหนือจดใต้ ๑,๒๐๐ เมตร กำแพงสูง ๕ เมตร หนา ๒ เมตร มีใบเสมาและป้อมประตู ๘ ป้อม แต่ละป้อมมีปืนใหญ่กระสุน ๔ นิ้ว ป้อมละ ๓-๔ กระบอก ประตูเมืองเป็นซุ้มใหญ่ ๑๐ ประตู มีประตูเล็ก ๑๐ ประตูโดยรอบ ปัจจุบันคงเหลือแต่กำแพงด้านถนนจะนะ ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และที่นครในเท่านั้น
ถนนคนเดินสงขลาแต่แรก จัดขึ้นบนถนนจะนะ ริมกำแพงเมืองเก่าสงขลา ตำบลบ่อยาง ทุกวันศุกร์และเสาร์ เวลา ๑๖.๐๐-๒๒.๐๐ น. เป็นแหล่งช้อปปิ้งยามค่ำคืนของเมืองสงขลา คำว่า “แต่แรก “ ในภาษาถิ่นภาคใต้ หมายถึง สมัยก่อน ชื่อถนนคนเดิน “สงขลาแต่แรก” จึงหมายถึง ความเป็นสงขลาในสมัยก่อนเพราะบริเวณถนนคนเดินจัดขึ้นในย่านเมืองเก่า ซึ่งบริเวณโดยรอบเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์บนถนนคนเดินมีทั้งร้านจำหน่ายสินค้าทำมือ อาหารพื้นเมือง เสื้อผ้า และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ
เจดีย์พระบรมธาตุวัดชัยมงคลอยู่ถนนเพชรมงคล-ชัยมงคล ตำบลบ่อยาง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ พระอาจารย์สอนบาลีในวัดนามว่า “นะ อิศโร” เดินทางไปลังกาและมีโอกาสรู้จักกับคหบดีผู้หนึ่ง ซึ่งยินดีจะถวายพระธาตุให้ โดยนำผอบมาวางไว้ และให้ท่านนะ อิศโรเลือก ท่านอธิษฐานและเลือกได้พระบรมสารีริกธาตุกลับมาสงขลา และสร้างเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะจนถึงทุกวันนี้ เปิดให้เข้ามาชมทุกวัน เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น.

วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร หรือ วัดกลาง
อยู่ถนนไทรบุรี ตำบลบ่อยาง เป็นวัดใหญ่และสำคัญของจังหวัดสงขลา สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมเรียกว่า “วัดยายศรีจันทร์” กล่าวกันว่ายายศรีจันทร์คหบดีผู้มั่งคั่งในเมืองสงขลาได้บริจาคเงินสร้างวัดขึ้นต่อมามีผู้สร้างวัดเลียบทางทิศเหนือ และวัดโพธิ์ทางทิศใต้ ชาวสงขลาจึงเรียกวัดยายศรีจันทร์ว่า “วัดกลาง” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เสด็จเมืองสงขลา ทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็นภาษาบาลีว่า “วัดมัชฌิมาวาส” ในวัดมีโบราณสถานที่น่าสนใจ ได้แก่ พระอุโบสถสร้างสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นศิลปะประยุกต์ไทย-จีนภายในมีพระประธาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหินอ่อนนำไปแกะสลักที่ประเทศจีน จึงมีพุทธลักษณะผสมไทย-จีน ภาพจิตรกรรมฝาผนังสีฝุ่น เป็นเรื่องราวพุทธประวัติที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ซุ้มประตู เป็นศิลปะจำหลักหินเรื่องสามก๊ก และมีพิพิธภัณฑ์ภัทรศิลป เป็นสถานที่เก็บพระพุทธรูป โบราณวัตถุ ที่รวบรวมมาจากเมืองสงขลา สทิงพระ และระโนด พิพิธภัณฑ์ฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน

แหลมสนอ่อน
อยู่ทางเหนือของแหลมสมิหลาแผ่นดินลักษณะคล้ายปลายแหลม บรรยากาศร่มรื่นไปด้วยทิวสนทะเล ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของปลายแหลมคือ ทะเลสาบสงขลา และด้านตะวันออกเฉียงใต้คือ ทะเลอ่าวไทย แหลมสนอ่อนจึงเป็นจุดที่เชื่อมระหว่างทะเลสาบสงขลาและทะเลอ่าวไทย ถัดจากปลายแหลมลงมาทางใต้ เป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์และศาลของพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ต่อมา พ.ศ. ๒๕๔๙ มีการสร้างรูปปั้นพญานาค ซึ่งถือเป็นเทพแห่งการให้น้ำและความอุดมสมบูรณ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เมืองสงขลา โดยแบ่งรูปปั้นพญานาคออกเป็น ๓ ส่วน ได้แก่
หัวพญานาค หมายถึงสติปัญญาที่เป็นเลิศของชาวสงขลา ตั้งอยู่อยู่บริเวณแหลมสนอ่อน
สะดือพญานาค หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ของชาวสงขลา ตั้งอยู่บริเวณลานชมดาวใกล้หาดสมิหลา และ
หางพญานาค หมายถึง บริวารที่พรั่งพร้อมของชาวสงขลา งอยู่บริเวณหาดชลาทัศน์

แหลมสมิหลาและหาดสมิหลา
อยู่ถัดจากแหลมสนอ่อนลงมาทางใต้ มีถนนเลียบชายหาดและทิวสนร่มรื่นตลอดแนว ริมหาดมีรูปปั้นนางเงือกนั่งอยู่บนโขดหิน เรียกกันว่า “เงือกทอง” ถือเป็นสัญลักษณ์ของหาดนี้ ห่างจากรูปปั้นนางเงือกไปไม่ไกล มีรูปปั้นแมวและหนู ซึ่งบอกเล่าตำนานของเกาะหนูเกาะแมว เป็นเกาะที่สามารถเห็นได้ชัดเจนจากหาดสมิหลา ตามตำนานกล่าวว่า “มีพ่อค้าชาวจีนผู้หนึ่ง คุมเรือสำเภาเดินทางมาค้าขายระหว่างจีนกับสงขลาเป็นประจำ วันหนึ่งพ่อค้าผู้นี้ได้ซื้อสุนัขกับแมวลงเรือไปเมืองจีนด้วย สุนัขกับแมวอยู่บนเรือนาน ๆ เกิดความเบื่อหน่าย จึงปรึกษาหาวิธีที่จะกลับบ้าน และได้ทราบว่าพ่อค้ามีดวงแก้ววิเศษที่ทำให้ไม่จมน้ำ แมวจึงคิดอุบาย โดยให้หนูไปขโมยแก้ววิเศษของพ่อค้ามา หนูจึงขอหนีขึ้นฝั่งไปด้วย ทั้งสามลงจากเรือและว่ายน้ำหนีโดยที่หนูอมดวงแก้วไว้ในปาก ขณะนั้นหนูนึกขึ้นได้ว่าถ้าถึงฝั่งแล้ว สุนัขกับแมวคงจะแย่งเอาดวงแก้วไป หนูจึงคิดที่จะหนี ส่วนแมวซึ่งว่ายตามหลังมาก็คิดเช่นกัน จึงว่ายน้ำไปหาหนู หนูตกใจว่ายน้ำหนีและไม่ทันระวังตัว ดวงแก้ววิเศษที่อมไว้จึงตกลงจมหายไปในน้ำ หนูและแมวต่างก็หมดแรงจมน้ำตายกลายเป็นเกาะหนูเกาะแมวอยู่ที่อ่าวหน้าเมือง ส่วนสุนัขว่ายน้ำไปจนถึงฝั่ง แต่ด้วยความเหน็ดเหนื่อยจึงสิ้นใจตายกลายเป็นหินอยู่บริเวณเขาตังกวนริมอ่าวสงขลาและดวงแก้ววิเศษที่หล่นจากปากหนู ได้แตกละเอียดกลายเป็นหาดทรายแก้วอยู่ทางด้านเหนือของแหลมสน” จากตำนานนี้ ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาหาดสมิหลา จนมีคำกล่าวว่า “ใครมาเยือนสงขลาแล้วไม่มาเยือนสมิหลา เหมือนมาไม่ถึงสงขลา”

หาดชลาทัศน์
เป็นชายหาดที่ยาวต่อเนื่องมาจากหาดสมิหลา โดยมีแหลมสมิหลาเป็นจุดแบ่ง หาดทรายขาวสะอาดเล่นน้ำได้ มีถนนชลาทัศน์ ซึ่งร่มรื่นไปด้วยทิวสนทะเลเลียบตลอดแนวหาด ด้านเหนือสุดแนวหาดที่เชื่อมต่อกับแหลมสมิหลา มีวงเวียนรูปปั้นคนอ่านหนังสือ สร้างขึ้นเพื่อให้คนไทยรักการอ่าน ช่วงกลางของหาดมีเวทีประชาชนเทศบาลนครสงขลาเป็นสวนสาธารณะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ มีสนามเด็กเล่น และเลนปั่นจักรยานเลียบชายหาด ที่หาดนี้เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นริมทะเลที่สวยงามอีกแห่ง

สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำสงขลา
อยู่เลขที่ ๓๙ ถนนแหลมสนอ่อน ตำบลบ่อยาง สร้างโดยเทศบาลนครสงขลา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ มีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การสาธิตให้อาหารปลาในอุโมงค์สัตว์น้ำที่เป็นกระจกโดยนักปะดาน้ำ การขับรถโกคาร์ทและเอทีวีในสนามจริง การแช่เท้าทำสปาปลา ฯลฯ เปิดให้เข้าชม วันอังคาร-ศุกร์ เวลา ๐๙.๓๐-๑๖.๐๐ น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๙.๓๐-๑๖.๔๕ น. (ปิดวันจันทร์ยกเว้นวันจันทร์ที่ตรงกับวันหยุดนักขัตฤกษ์) อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย ผู้ใหญ่ ๑๕๐ บาท เด็ก ๑๐๐ บาท ชาวต่างชาติผู้ใหญ่ ๓๐๐ บาท เด็ก ๒๐๐ บาท สอบถามข้อมูล โทร. ๐ ๗๔๓๒ ๒๗๘๗, ๐ ๗๔๓๒ ๒๘๙๙, www.songkhlaaquarium.com

เขาน้อย
อยู่ใกล้แหลมสมิหลา มีถนนลาดยางขึ้นสู่ยอดเขาเพื่อชมทิวทัศน์ของเมืองสงขลา เชิงเขาน้อยทางทิศตะวันออกจัดเป็นสวนสาธารณะสำหรับพักผ่อนมีร้านอาหารและสนามเทนนิสให้บริการเชิงเขาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือคือ สวนเสรี มีไม้ประดับตกแต่งเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ บนยอดเขาน้อยเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์

ตำหนักเขาน้อย
อยู่เชิงเขาน้อยด้านทิศใต้ ถนนสะเดา ตำบลบ่อยาง สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ เพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอุปราชมลฑลปักษ์ใต้ และเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในคราวเสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรจังหวัดภาคใต้เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ และใช้เป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗ ต่อมา (กรม) ศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นอาคารสถาปัตยกรรมยุโรป มี ๓ ชั้น ประตูมีลวดลายสลักประดับเหนือวงโค้งของประตู ชั้นล่างเป็นห้องโถง ห้องรับแขก ชั้น ๒ เป็นห้องนอนห้องแต่งตัว ห้องสมุด ชั้น ๓ เป็นห้องนอนมีเครื่องเรือนไม้แบบอังกฤษ และด้านทิศตะวันออกเป็นหอคอย

เขาตังกวน
เป็นเนินเขามีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑๐๕ เมตร บนยอดเขาเป็นที่ประดิษฐาน เจดีย์พระธาตุ คู่เมืองสงขลา สร้างในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช เป็นศิลปะสมัยทวารวดี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช ทรงพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานในองค์พระเจดีย์นี้ ช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี ในเทศกาลออกพรรษา จะมีงานพิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์ และประเพณีตักบาตรเทโว ศาลาพระวิหารแดง สร้างในช่วง ๒ รัชกาล คือ สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พลับพลาหันไปด้านหนึ่งของเขาตังกวน สามารถชมทิวทัศน์ได้ไกล นอกจากนี้มี ประภาคาร สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมี ลานชมวิวเขาตังกวน มีรูปปั้นหลวงปู่ทวดอยู่กลางลาน และบริเวณลานสามารถชมทิวทัศน์ได้โดยรอบ ๓๖๐ องศา ทั้งตัวเมืองทะเลสาบสงขลา และหาดสมิหลา การขึ้นสู่ยอดเขาตังกวน ทำได้ ๒ วิธี คือ เดินเท้าขึ้นบันได ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาอีกด้าน ระหว่างทางมีจุดพักและจุดชมวิวเป็นระยะ หรือใช้ ลิฟต์โดยสารอยู่บริเวณถนนตัดระหว่างเขาตังกวนและเขาน้อยค่าบริการ ๓๐ บาท เปิดให้บริการทุกวัน เวลา ๐๘.๓๐-๑๘.๐๐ น. สอบถามข้อมูลโทร. ๐ ๗๔๓๑ ๖๓๓๐

เขาเก้าเส้ง (วัดเขาเก้าแสน)
เป็นเขาหินลูกเล็ก ๆ อยู่ริมทะเล ทางตอนใต้ของหาดชลาทัศน์ พื้นที่โดยรอบเป็นชุมชนชาวประมง มีตำนานเล่าถึงเขาแห่งนี้หรือที่เรียกกันในภาษาพื้นเมืองคือ “หัวนายแรง” ว่า “ครั้งหนึ่งทางเมืองนครศรีธรรมราชกำหนดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในเจดีย์ บรรดา ๑๒ หัวเมืองปักษ์ใต้ต่างนำเงินทองไปบรรจุในพระบรมธาตุ เมืองที่นายแรงเป็นเจ้าเมืองก็เป็นเมืองขึ้นนครศรีธรรมราชด้วย นายแรงผู้มีความศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ได้ขนเงินทองจำนวนมากถึงเก้าแสน บรรทุกขึ้นเรือสำเภาพร้อมด้วยไพร่พลออกเดินทางไปนครศรีธรรมราช ขณะกำลังเดินทางเรือสำเภาถูกคลื่นลมชำรุด จึงเข้าจอดเรือที่ชายฝั่งแห่งหนึ่ง เพื่อซ่อมแซมเรือ พอได้ทราบข่าวว่าทางเมืองนครศรีธรรมราช ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้ว นายแรงเสียใจมากจึงให้ไพร่พลขนเงินทองบรรจุไว้บนยอดเขาลูกหนึ่ง และสั่งให้ลูกเรือตัดหัวของตนไปวางไว้ที่ยอดเขาและนายแรงได้กลั้นใจตายลูกเรือจึงจำใจตัดหัวเจ้านายไปวางไว้บนยอดเขาตามคำสั่ง เขาลูกนี้ภายหลังเรียกว่า “เขาเก้าแสน” เรียกเพี้ยนไปเป็น “เก้าเส้ง” ก้อนหินที่ปิดทับบนยอดเขา “หัวนายแรง” ชาวบ้านจึงเชื่อว่าดวงวิญญาณของนายแรงยังเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์มาจนทุกวันนี้” บนเขาเก้าเส้งยังเป็นที่ตั้งของวัดเขาเก้าแสน ภายในวัดมี “วิหารพระพุทธมารดา” ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางประสูติ และกลางลานวัดประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่นามว่า “พระพุทธเมตตา” จากตัววัดมีบันไดหินเดินขึ้นไปสู่เนินเขาใกล้ ๆ กันบนยอดเนินประดิษฐาน “พระเจดีย์ยอดเขาเก้าเส้ง” เป็นเจดีย์ทรงลังกาก่ออิฐถือปูน ศิลปะรันตโกสิทร์ตอนต้น

การเดินทาง
จากตัวเมืองสงขลา ใช้ถนนชลาทัศน์ลงมาทางทิศใต้ จนถึงทางโค้งที่ตัดกับถนนเก้าแสนมีทางแยกให้เลี้ยวซ้าย ตรงไปและข้ามสะพานปูนจนถึงสถาบันเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งแห่งชาติสงขลามีทางขึ้นเขาเก้าเส้งอยู่ด้านซ้ายมือ ระยะทางจากตัวเมือง ๕ กิโลเมตร
บ้านศรัทธา อยู่ถนน้ำกระจาย-อ่างทอง ตำบลพะวง บนเนินเขาที่รายล้อมด้วยสวนมะพร้าวเป็นบ้านที่ชาวสงขลาพร้อมใจกันสร้างเพื่อมอบให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี และรัฐบุรุษ ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ต่อมาท่านได้มอบบ้านนี้คืนให้ชาวสงขลาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ จากตัวบ้านสามารถเห็นทัศนียภาพได้ไกลถึงสะพานติณสูลานนท์ ซึ่งอยู่ห่างออกไป ๓ กิโลเมตร
หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก สงขลา อยู่ถนนน้ำกระจาย-อ่างทอง ตำบลพะวง เชิงเขาใกล้กับบ้านศรัทธา สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอุยเดช ครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าองค์ความรู้ต่าง ๆ เปิดให้บริการ วันอังคาร-วันเสาร์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. (ปิดวันอาทิตย์-จันทร์ และวันนักขัตฤกษ์) สอบถามข้อมูลโทร. ๐ ๗๔๓๓ ๓๐๖๓-๕

สวนสัตว์สงขลา
อยู่บริเวณเขารูปช้าง ถนนสงขลา-นาทวี ตำบลเขารูปช้าง เป็นสวนสัตว์เปิด เพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์สัตว์ป่าของไทยคืนสู่ธรรมชาติ ลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาเล็ก ๆ หลายลูก มีถนนลาดยางโดยรอบ และแยกชนิดของสัตว์ไว้เป็นหมวดหมู่ มีจุดชมทัศนียภาพเมืองสงขลา มีร้านอาหารให้บริการ สวนสัตว์ฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๘.๓๐-๑๗.๐๐ น. ค่าเข้าชม ชาวไทย ผู้ใหญ่ ๑๐๐ บาทเด็ก ๒๐ บาท นักศึกษาหรือช้าราชการในเครื่องแบบ ๕๐ บาท พระภิกษุ สามเณร ผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป และคนพิการ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ ๑๕๐ บาทเด็ก ๗๐ บาท สอบถามข้อมูลโทร. ๐ ๗๔๕๙ ๘๕๕๕ www.songkhlazoo.com

อ ำ เ ภ อ ห า ด ใ ห ญ่

วัดมหัตตมังคลาราม หรือ วัดหาดใหญ่ใน
อยู่ถนนเพชรเกษม หลังตลาดหาดใหญ่ใน ใกล้สะพานคลองอู่ตะเภา ภายในวัดประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่ มีความยาว ๓๕ เมตร สูง ๑๕ เมตร นามว่า “พระพุทธมหัตตมังคล” นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยชาวต่างประเทศนิยมมาสักการะ ภายในบริเวณวัด มีศาลาไม้เก่าแก่สวยงาม หน้าบันประดับปูนปั้นรูปเทพพนม นอกจากนี้ มีเรือปูนปั้นจำลอง พญานาค ๗ เศียร ภายในลำเรือประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยในซุ้มสวยงาม

สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่
อยู่ถนนกาญจนวนิช ตำบลหาดใหญ่ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวหาดใหญ่และอำเภอใกล้เคียง โดยการดัดแปลงพื้นที่จากภูเขาทั้งลูกให้เป็นสวนสาธารณะที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ในเนื้อที่กว่า ๙๐๐ ไร่ สถานที่น่าสนใจภายในสวนสาธารณะฯ ได้แก่

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
อยู่ตรงกลาง เพื่อให้ชาวไทยได้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงสร้างคุณูปการอันยังประโยชน์ต่อประชาชนจนถึงทุกวันนี้ และลานพระบรมรูปแห่งนี้ยังใช้เป็นที่จัดกิจกรรมเนื่องในวันปิยมหาราชเป็นประจำทุกปี

พระพุทธมงคลมหาราช

ยอดเขาคอหงส์
เป็นภูเขาขนาดย่อมอยู่ภายในสวนสาธารณะฯ มีทางถนนขึ้นไปถึงบนยอดเขา สามารถนำรถยนต์และจักรยานยนต์ขึ้นไปได้ นอกจากนี้มีบริการรถรางจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว นำขึ้นไปบนยอดเขา ค่าบริการ คนละ ๒๐ บาท (ในกรณีต้องการใช้บริการรถรางกลับลงมาด้านล่าง ต้องเก็บบัตรโดยสารไว้แสดงต่อเจ้าหน้าที่) บนยอดเขาคอหงส์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานพรองค์ใหญ่ นามว่า “พระพุทธมงคลมหาราช” ด้านหน้าองค์พระเป็นลานชมทิวทัศน์เมืองหาดใหญ่ สามารถเห็นทัศนียภาพได้ไกลถึงทะเลสาบสงขลา นักท่องเที่ยวนิยมขึ้นมาชมในยามเย็น เพราะสามารถเห็นพระอาทิตย์ตกได้อย่างชัดเจน

ศาลาท้าวมหาพรหม
อยู่บนยอดเขาชุมสัก ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของสวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ ภายในศาลาประดิษฐานท้าวมหาพรหมเทพสูงสุดของศาสนาฮินดู และมีรูปปั้นช้างเอราวัณขนาดใหญ่ บริเวณศาลาฯ เป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งของหาดใหญ่
หาดใหญ่เคเบิ้ลคาร์ กระเช้าลอยฟ้าแห่งแรกของประเทศไทย อยู่บนเขาคอหงส์ มีกระเช้า ๒ คัน ระยะทาง ๕๒๕ เมตร ใช้เวลาเดินทางต่อรอบ ๒.๓๐ นาที บรรทุกผู้โดยสารได้ครั้งละ ๘ คน เป็นเส้นทางสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งประดิษฐานอยู่บนยอดเขาคอหงส์จากสถานีที่ ๑ คือ

พระพุทธมงคลมหาราช
ไปสถานีที่ ๒ คือ รูปปั้นองค์ท้าวมหาพรหม ขณะอยู่ในกระเช้าสามารถเห็นทัศนียภาพของทิวเขาคอหงส์ อาคารบ้านเรือนในเมืองตัวหาดใหญ่ และทะเลสาบสงขลา บริเวณสถานีให้บริการกระเช้าลอยฟ้า มีร้านกาแฟและร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก กระเช้าลอยฟ้าเปิดให้บริการวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๓๐ น. วันศุกร์-อาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๘.๐๐ น. (ปิดวันจันทร์) ชาวไทย ผู้ใหญ่ ๑๐๐ บาท เด็ก ๕๐ บาท ข้าราชการ นักเรียน นักศึกษาที่สวมเครื่องแบบ ๕๐ บาท และชาวต่างชาติ ๒๐๐ บาท สอบถามข้อมูล โทร. ๐๘ ๖๙๖๐
๗๔๒๖

ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ดาราศาสตร์นครหาดใหญ่ (หอดูดาว)
อยู่บนเขาคอหงส์ ก่อนถึงลานชมทิวทัศน์บนยอดเขา ๓๐๐ เมตร เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบและทันสมัย ภายในมีห้องนิทรรศการ โรงฉายภาพยนตร์และโดมดูดาว สามารถเติมเต็มจินตนาการและความรู้ของผู้ที่สนใจด้านดาราศาสตร์ เปิดให้บริการทุกวัน เวลา ๐๙.๐๐-๒๐.๐๐ น. อัตราค่าบริการ คนละ ๒๐ บาท สอบถามข้อมูล โทร. ๐ ๗๔๕๓ ๑๘๖๓ นอกจากนี้ ภายในสวนสาธารณะฯมีสนามหญ้าให้นั่งเล่น ปิกนิก การจัดตกแต่งสวนหย่อมที่สวยงาม มีอ่างเก็บน้ำ สะพานแขวน เรือปั่นให้เช่า ร้านอาหาร และห้องน้ำรองรับนักท่องเที่ยว
สวนสาธารณะฯ เปิดให้บริการ เวลา ๐๖.๐๐-๒๐.๐๐ น.
สอบถามข้อมูล
โทร. ๐ ๗๔๒๐ ๐๐๐๐ www.hatyaipark.com

พิพิธภัณฑ์มายากล หาดใหญ่ Magic Museum Hat Yai by Black Crystal
อยู่ถนนกาญจนวนิช ตำบลหาดใหญ่ ตรงข้ามกับวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ แหล่งรวบรวมเรื่องราวมายากล ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทั้งนั้น ประเทศและต่างประเทศ, อุปกรณ์การแสดงมายากลที่หาชมได้ยาก, ของสะสมและของแปลกที่ต้องพิศวง สนุกสนานเพลิดเพลินกับการสวมบทบาทนักมายากลในซนภาพวาด ๓ มิติ ปิดท้ายด้วยความตื่นเต้นกับการแสดง มายากลอิลลูชั่น ในโรงละครมายากลแห่งแรกของหาดใหญ่ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๙.๐๐-๑๘.๐๐ น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย ๒๐๐ บาท เด็ก ๑๐๐ บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ ๓๐๐ บาท เด็ก ๒๕๐ บาท สอบถามข้อมูล โทร. ๐ ๗๔๒๑ ๑๔๔๔ www.magicmuseum.com

ตลาดกิมหยง
อยู่ถนนศุภสารรังสรรค์ เป็นตลาดขายของฝากและของที่ระลึกแห่งใหญ่ มีชื่อเต็มว่า “ตลาดซีกิมหยง” เป็นชื่อของคหบดีชาวจีนผู้หนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเดิมในย่านนี้ ตัวตลาดเป็นอาคารสองชั้นซึ่งเดิมเป็นโรงภาพยนตร์เก่าและปรับปรุงเป็นตลาด ชั้นบนเป็นร้านขายสินค้าทั่วไป ชั้นล่างเป็นตลาดขายของแห้ง ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ถั่ว ขนม ผลไม้อบแห้ง เครื่องดื่มสำเร็จรูปพร้อมชง ฯลฯ และมีสินค้าพื้นเมืองปักษ์ใต้ เช่น ผ้าทอ ผ้าปาเต๊ะ และผ้าคลุมศีรษะแบบอิสลาม (ฮิญาบ) ตลาดกิมหยงเป็นตลาดที่มีชื่อเสียงคู่กับ ตลาดสันติสุข ซึ่งจำหน่าย เครื่องใช้ไฟฟ้า น้ำหอม และเครื่องสำอาง อยู่บนถนนนิพัทธ์อุทิศ ๒ ในย่านเดียวกัน

ตลาดน้ำคลองแห
อยู่ในบริเวณวัดคลองแห ตำบลคลองแห เป็นตลาดน้ำแห่งแรกของภาคใต้ จำลองวิถีชีวิตดั้งเดิมคือการค้าขายทางน้ำของชาวบ้านคลองแห ซึ่งมีพ่อค้าแม่ค้าพายเรือนำสินค้ามาขาย ทั้งขนมพื้นเมืองและอาหารปักษ์ใต้หลากหลายชนิด ภาชนะที่ใส่อาหารใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง กะลามะพร้าว ไม้ไผ่ ตลาดน้ำเปิดวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ เวลา ๑๕.๐๐-๒๑.๐๐ น. สอบถามข้อมูลได้ที่เทศบาลเมืองคลองแห โทร. ๐ ๗๔๕๘ ๐๘๘๘ www.klonghaecity.go.th

ก า ร เ ดิ น ท า ง
จากตัวอำเภอหาดใหญ่ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๔ (ถนนเพชรเกษม) เลี้ยวซ้ายเข้าถนนนิพัทธ์สงเคราะห์ ๕ ข้างธนาคารแห่งประเทศไทย ตรงไปจนสุดทาง มีทางแยกให้เลี้ยวขวา ตรงไปประมาณ ๔๐๐ เมตร เป็นทางแยกให้เลี้ยวซ้ายข้ามทางรถไฟ ตรงไป ๑ กิโลเมตร พบวัดคลองแหอยู่ซ้ายมือบริเวณโค้งของถนนตรงเข้าไปในวัด ตลาดน้ำคลองแหอยู่ฝั่งตรงข้ามวัด

น้ำตกโตนงานช้าง
อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง ตำบลฉลุง เป็นน้ำตกที่สวยงามแห่งหนึ่งของภาคใต้ มีทั้งหมด ๗ ชั้น มีน้ำตลอดทั้งปี ชั้นที่สวยงามและเป็นชื่อของน้ำตกคือชั้นที่ ๓ เพราะสายน้ำตกไหลแยกออกเป็นสองทางผ่านหน้าผาหินลงมาลักษณะคล้ายงาช้าง และคำว่า “โตน” ในภาษาพื้นเมือง แปลว่า น้ำตก ดังนั้น “โตนงานช้าง” จึงหมายถึง น้ำตกรูปงาช้าง บริเวณใกล้น้ำตกมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ

มัสยิดกลางสงขลา หรือ มัสยิดกลางดิย์นุลอิสลาม
อยู่ถนนลพบุรีราเมศวร์ ตำบลคลองแห เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิมในสงขลา ภายในตกแต่งสวยงามโอ่โถง เหมาะแก่การทำจิตใจให้สงบและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา มัสยิดแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่า “ทัชมาฮาลเมืองไทย” การมาเที่ยวชมควรปฏิบัติตนสำรวม และแต่งกายสุภาพ
สามารถเดินเที่ยวชมได้ด้วยตนเอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงานช้าง มีบ้านพัก ลานกางเต็นท์ และร้านอาหารให้บริการ อยู่บริเวณทางเข้าน้ำตก

สอบถามข้อมูล
โทร. ๐ ๗๔๒๓ ๘๕๑๘

การเดินทาง
รถยนต์ จากตัวอำเภอหาดใหญ่ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๔ (ถนนเพชรเกษม) เส้นทางไปอำเภอรัตภูมิ จนถึงหลักกิโลเมตรที่ ๑๓ เขตตำบลหูแร่ มีทางแยกให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงชนบทสาย ๑๐๒๖ อีก ๑๓ กิโลเมตร ถึงน้ำตก ระยะทางจากตัวอำเภอ ๒๖ กิโลเมตร

รถประจำทาง มีรถสองแถวโดยสารวิ่งจากตลาดสดเทศบาลเมืองนครหาดใหญ่-น้ำตก ทุกวัน